Warning: The magic method Vc_Manager::__wakeup() must have public visibility in /home/ifeelsom/domains/porpiangwriter.com/public_html/wp-content/plugins/js_composer/include/classes/core/class-vc-manager.php on line 203
ตอนที่ 10 รู้ สู้ทุกสิ่ง ฉบับตัวอักษร – PorpiangWriter.com
ตอนที่ 10 รู้ สู้ทุกสิ่ง ฉบับตัวอักษร

ตอนที่ 10 รู้ สู้ทุกสิ่ง ฉบับตัวอักษร

ในขณะที่สถานการณ์น้ำค่อย ๆ คลี่คลายไปทีละพื้นที่ ผู้คนก็เริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็ยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังค้างคาใจอยู่ :

  • ในอนาคตน้ำจะท่วมอีกไหม
  • น้ำจะมาเมื่อไร
  • เราจะรู้ได้ยังไง
  • เราจะรับมือกับมันยังไง
  • เราจะทำยังไงให้น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทเรียนให้เราเข้มแข็งขึ้นในการรับมือกับน้ำท่วมในคราวหน้า

เพื่อให้เราไม่เป็นอย่างที่หลายเคยพูดกันเป็นประจำว่าคนไทยลืมง่าย วันนี้เรามีเก้าเรื่องในน้ำท่วมที่เราไม่อยากให้คุณลืมมาให้ดูกัน

1.เราจะเสียหายไปอีกนานแค่ไหน

น้ำท่วมครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท คำว่ามูลค่าความเสียหายไม่ใช่แค่ข้าวของที่พัง แต่สิ่งที่สำคัญในการคำนวณความเสียหายที่ไม่เคยนึกถึงก็คือค่าสูญเสียโอกาส

สมมุติว่าเราเป็นนักเขียน ได้เงินเดือนละสองหมื่นบาท ทำงานด้วยโต๊ะราคาหนึ่งพันบาท คอมพิวเตอร์หนึ่งตัวราคาสามหมื่นบาท ถ้าน้ำท่วมจนโต๊ะและคอมพิวเตอร์พัง ความเสียหายไม่ใช่แค่ 31,000 บาท แต่คุณยังเสียโอกาสที่จะได้เงินสองหมื่นบาทไปด้วย รวมแล้วมูลค่าความเสียหายของคุณคือ 51,000 บาท

ของที่เสียเราซื้อ-ซ่อมใหม่ได้ แต่ซื้อเวลาคืนไม่ได้ ถ้าเราไม่เริ่มสนใจข่าวสารการแก้ปัญหาน้ำท่วม เราอาจต้องจ่ายค่าเสียโอกาสในรอบต่อไปอีกเรื่อย ๆ ก็ได้ครับ

2.โลกเราไม่เหมือนเดิม

ตำราเรียนสมัยเด็ก ๆ เคยสอนเราว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แต่เวลาผ่านไปก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

สถิติบอกว่าเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แต่ความเข้าใจที่เราควรรู้คือต้นไม้ไม่ใช่ป่า ป่าที่มีคุณภาพไม่ใช่พื้นที่สีเขียวดังที่สถิติบอก แต่เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อฝนตกลงมา พันธุ์พืชที่หลากหลายจะซับน้ำและลดแรงปะทะของฝนก่อนที่น้ำฝนจะตกลงพื้นดิน แต่ป่าที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นจำนวนมากจะซับน้ำได้น้อยกว่าป่าที่มีคุณภาพเป็นสิบเท่า

หลายคนอาจคิดว่า จะปลูกป่าตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว แต่เราจะอยู่เฉย ๆ จนมันแย่ลง หรือทำให้มันดีขึ้น เมื่อปัญหาระบบนิเวศเริ่มส่งผลถึงชีวิตเราแล้วอย่างชัดเจน

3.เรามีข้อมูลเพียบพร้อมกว่าที่คิด

ในกระบวนการจัดการน้ำ แบ่งออกเป็น น้ำฟ้า น้ำท่า น้ำทุ่ง น้ำท่วม

น้ำฟ้าคือกรมอุตุวิทยาจัดการข้อมูลฝน กรมชลประทานและหน่วยงานท้องถิ่นจัดการลำน้ำในพื้นที่และน้ำที่อยู่นอกเหนือลำน้ำ (น้ำท่าและน้ำทุ่ง) จนมาถึงสำนักระบายน้ำจัดการระบายน้ำท่วม

สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการน้ำก็คือข้อมูลที่จะทำให้เราประเมินสถานการณ์น้ำได้

หลายคนคิดว่าปัญหาคือเราไม่รู้ข้อมูลเลย ผิดถนัดครับ เรามีข้อมูลดิบมากมายแต่เราขาดการแปรสภาพข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ แม้ในปีที่ปริมาณน้ำฝนสูง การรู้ระดับน้ำ รู้ผังเมือง อาจไม่ช่วยให้น้ำไม่ท่วม แต่การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้เราพยากรณ์น้ำและช่วยลดความเสียหายได้ครับ

4.เราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้

เราอาจจะคิดว่าถ้าเรามีระบบการจัดการน้ำที่ดีแล้วจะช่วยให้น้ำไม่ท่วมได้ ลองไปดูภาพนี้ครับ :

นี่คือน้ำท่วมที่ปกคลุมทางภาคเหนือถึงภาคกลาง และนี่คือเขื่อนในพื้นที่น้ำท่วม เขื่อนเองก็มีขีดจำกัดในการรับน้ำ แม้เขื่อนจะมีประโยชน์ช่วยเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง มีเขื่อนก็น้ำท่วมได้ และน้ำแล้งได้เช่นกัน

ถ้าเราลองพึ่งระบบให้น้อยลง พึ่งตนเองให้มากขึ้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าช่วยในกรณีที่ขาดเหลือ เพียงเท่านี้เราอาจไม่ต้องเอาชนะธรรมชาติ แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้แทน

5.บ้านเราทุกคนอยู่บนแผนที่

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำโดยตรงคือการวางผังเมือง ซึ่งเป็นการควบคุมพื้นที่ที่น้ำจะไหลผ่านให้ผลกระทบน้อยที่สุด แต่เราเคยคิดหรือเปล่าว่าบ้านของเราทุกคนอยู่บนแผนที่ เช่นการถมที่ให้สูงขึ้น หากเราไม่ศึกษาให้ดีมันก็อาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำได้

เรามีกฎหมายผังเมืองที่ถูกเขียนขึ้นมาอย่างมีเหตุผล หากเราไม่สนใจ คิดถึงแต่ตนเอง เรื่องทีคิดว่ามันเล็กน้อยอาจส่งผลต่อผู้อื่นมากกว่าที่เราคิด

6.รู้สิทธิ รู้หน้าที่

รู้จักพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไหมครับ เราเชื่อว่าบางคนรู้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แผนที่ระบุหน้าที่ของหน่วยงานทุกระดับอย่างชัดเจนเมื่อเกิดสาธารณภัย และกำหนดให้ประชาชนอย่างเรามีหน้าที่ปฏิบัติตาม แต่แผนดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้

ตามสิทธิแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องรัฐบาลได้ แต่สิทธิมาพร้อมหน้าที่เสมอ

ก่อนที่เราจะมีสิทธิ์ใด ๆ หน้าที่หนึ่งที่ประชาชนทุกคนต้องทำ คือต้องรู้และปฏิบัติตามกฎหมายนั่นเอง

7.รถยนต์ล้นเมือง

ในกรุงเทพฯ มีรถยนต์วิ่งบนท้องถนนประมาณสี่ล้านคัน ถ้าเราเอารถทั้งหมดจอดต่อกันบนถนนทุกสายทั่วกรุงเทพฯ จะกินพื้นที่ไปสองเลนเต็ม ๆ

น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมามีการเปิดพื้นที่ให้จอดรถหนีน้ำฟรีประมาณเจ็ดหมื่นคัน หรือประมาณ 1.75% ของรถทั้งหมด เมื่อที่จอดรถไม่เพียงพอ หลายคนจึงนำไปจอดบนทางด่วน ส่งผลให้จราจรติดขัดยิ่งขึ้น บ้างก็กีดขวางการเดินทางของรถหน่วยงานที่จะไปให้ความช่วยเหลือ

จริงอยู่ที่เราจะมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตในแบบที่เราต้องการ แต่ลองทบทวนแล้วหรือยังว่าสิทธิของเราได้เบียดบังผู้อื่นหรือเปล่า

8.”ให้” อย่างรู้เท่าทัน

ในวิกฤติครั้งนี้ยอดบริจาคสูงเป็นประวัติกาล อีกทั้งยังมีอาสาสมัครรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคดีโกงเงินบริจาคเกิดขึ้นเช่นกัน

เรามีส่วนร่วมในการรักษาน้ำใจดี ๆ ของคนไทยไว้ได้ นั่นคือการช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากเราสนับสนุนการบริจาคกับหน่วยงานที่เปิดเผยข้อมูลชัดเจน เป็นแรงผลักดันให้ทุกหน่วยงานมาเปิดเผยข้อมูลการบริจาค ก็จะช่วยบรรเทาการทุจริตไปได้ครับ

9.รู้ไม่ทันข่าว

ตามหลักของการเขียนข่าว เรื่องไหนที่สด เด่น เป็นที่สนใจ แปลกประหลาด หรือแม้แต่น่าขบขัน มักจะถูกคัดเลือกให้เป็นข่าว แต่บ่อยครั้งที่ความจริงและความคิดเห็นถูกสอดแทรกมาอยู่ในข่าวชนิดที่แยกแทบไม่ออก แค่วลีว่า “เสียหาย 10,000 บาท” กับ “เสียหายถึง 10,000 บาท” แค่เพิ่มคำหรือเพิ่มขนาดตัวหนังสือให้ใหญ่ขึ้นก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันแล้ว ยิ่งในยุคที่เฟซบุ๊ก หรือยูทูบเป็นที่นิยมในวงกว้าง ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง เรายิ่งต้องมีสติในการรับสื่อมากขึ้น หากเราแยกแยะไม่ได้ว่าประโยคไหนคือความคิดเห็น ประโยคไหนคือความจริง เราอาจถูกชักจูงไปในทิศทางไหนก็ได้ด้วยอำนาจของสื่อครับ

และทั้งหมดนี้คือเก้าเรื่องในน้ำท่วมที่เราไม่อยากให้คุณลืม

แล้วทำไมเราถึงไม่อยากให้คุณลืม?

เพราะถ้าเราลืม ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้เลย ถ้าเราไม่รู้ว่าบ้านเราเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเราเคยจัดการกับปัญหาอย่างไร ไม่เริ่มยืนพื้นด้วยตัวเราเอง ไม่คิดว่าเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม แต่ถ้าเรารู้สิทธิและหน้าที่ของเราเอง เราก็จะพึ่งตนเองได้โดยไม่เบียดเบียนคนอื่น มีส่วนร่วมกับสังคมด้วยความรอบคอบ และสนใจประเทศชาติอย่างมีสติ

ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอาจไม่ใช่โครงการร้อยล้านพันล้าน แต่เป็นความรู้ของประชาชน ที่จะช่วยให้เรารับมือกับทุกปัญหาได้ ความรู้ไม่มีขา มันไม่สามารถเดินมาหาเราเองได้ เทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นแล้ว แล้วคุณล่ะเริ่มคิดที่จะเดินเข้าหาความรู้เหล่านั้นแล้วหรือยัง

ถึงตรงนี้ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มหาความรู้ได้ยังไง เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเก้าเรื่องในน้ำท่วมที่เราไม่อยากให้คุณลืม และช่องทางสำหรับต่อยอดความรู้ไว้ในลิงก์ด้านล่างแล้ว ลองศึกษากันดูนะครับ :

สุดท้ายแล้วสังคมไทยจะเป็นอย่างไร เราจะเป็นคนไทยที่ลืมง่าย หรือคนไทยที่ใฝ่รู้ ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับเรา “คนไทยทุกคน” ครับ

The End.

(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart