ตอนที่ 8 รู้ทันน้ำเสีย เราเคลียร์ได้ ฉบับตัวอักษร
ท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วมที่ยาวนาน น้ำที่เริ่มเน่าเสียทำให้เราทุกคนเริ่มหาทางแก้ อีเอ็มบอลหรือลูกบอลจุลินทรีย์ ก็ดูจะเป็นเสมือนความหวัง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยคำถามว่ามันใช้ได้จริงหรือเปล่า? วันนี้เราจะมาทำความรู้จักมันให้มากขึ้น และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียไปพร้อม ๆ กัน แต่ก่อนจะเข้าใจเรื่องอีเอ็มได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำเสียคืออะไร
น้ำเสียไม่ใช่แค่น้ำที่มีสีดำหรือมีกลิ่นเหม็น แต่เป็นน้ำที่มีออกซิเจนไม่มากพอ สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่ได้ ดังนั้นน้ำที่เราเห็นว่าใสแต่มีออกซิเจนไม่พอหรือมีสารพิษเจือปนก็นับเป็นน้ำเสียได้เช่นกัน แล้วน้ำเสียเกิดจากอะไร
เราลองไปตั้งต้นกันดูที่พื้นฐานสักนิด ว่าในน้ำมีอะไรบ้าง
สามสิ่งที่มีในน้ำและเราควรรู้จักได้แก่ :
1.สารประกอบ เช่น ออกซิเจน ซัลเฟต ไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
2.สารอินทรีย์ละลายน้ำหรือก็คือซากพืชซากสัตว์และสิ่งต่าง ๆ ที่ทำปฏิกิริยาละลายในน้ำ
3.จุลินทรีย์ ซึ่งกินอาหารอินทรีย์ละลายน้ำเป็นอาหารโดยใช้สารประกอบเป็นพลังงาน
จุลินทรีย์แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม
-กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน (Aerobic)
-กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic)
-กลุ่มที่อยู่ได้ทั้งสองภาวะ (Facultative) ถ้ามีออกซิเจนก็ใช้ ถ้าไม่มีก็ใช้สารประกอบอื่น ๆ แทน
น้ำท่วมได้พัดพาสารประกอบและสารอินทรีย์อื่น ๆ จำนวนมากมาด้วย โดยมาในรูปของขยะ ดินโคลนและสารอินทรีย์ละลายน้ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นอาหารชั้นดีของเหล่าจุลินทรีย์ ขณะที่น้ำยังมีออกซิเจน กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน กับกลุ่มที่อยู่ได้ทั้งภาวะมีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน ก็จะใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานในการกินสารอินทรีย์ เมื่อมีอาหารมากก็กินมาก กินมากก็เพิ่มจำนวนมาก เพิ่มจำนวนมากก็ใช้พลังงานมาก ออกซิเจนจึงเริ่มน้อยลง และกลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานก็จะเริ่มอยู่ไม่ได้ และในขณะนั้นเองเจ้าพวกที่ใช้สารประกอบอื่นเป็นพลังงานก็เริ่มครองอาณาเขตแทน แต่กลุ่มที่อยู่ได้ทั้งภาวะมีและไม่มีออกซิเจนก็หันมาใช้สารประกอบอื่น ๆ เป็นพลังงานแทน แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้ซัลเฟตเป็นพลังงาน เจ้าตัวนี้แหละที่คายผลผลิตจากการกินออกมาเป็นไฮโดรเจนซัลไฟต์หรือแก๊สไข่เน่า ซึ่งเป็นต้นเหตุให้น้ำมีกลิ่นเหม็นนั่นเอง
น้ำมีความสามารถในการบำบัดตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นการไหลของน้ำจะทำให้น้ำมีออกซิเจนจากอากาศละลายลงสู่น้ำเพิ่มขึ้น หรือการที่น้ำมีจุลินทรีย์ก็เป็นกลไกในการย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่บางครั้งเมื่อน้ำท่วมขัง ไม่มีการไหลหรือมีปริมาณสารอินทรีย์จำนวมากเกินไป จนย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ทัน เราก็ต้องแก้น้ำเสียด้วยตัวของเราเอง
วิธีแก้มีอยู่สามวิธีคือ การเติมออกซิเจน การใช้สารเคมี และการลดปริมาณการใช้สารอินทรีย์ละลายน้ำ
แล้วอีเอ็มคืออะไร อีเอ็มย่อมาจาก “Effective Microorganisms” หรือจุลินทรีย์ที่เก่งเฉพาะด้าน เราต้องเข้าใจก่อนว่าจุลินทรีย์ก็เหมือนกับมนุษย์ จุลินทรีย์แต่ละพวกจะมีความถนัดต่างกันออกไป เหมือนมนุษย์ที่ยังมีหลายสาขาอาชีพ ส่วนพวกไหนจะเป็นจุลินทรีย์ที่ดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่วาระกันไป เพราะจุลินทรีย์ที่เราคิดว่าไม่ดีบางตัวก็สามารถทำประโยชน์ได้ในบางวาระ เช่นจุลินทรีย์กลุ่มที่ทำน้ำเสียก็มีส่วนช่วนในการสร้างแก๊สชีวภาพเป็นต้น
หลักการทำงานของอีเอ็ม คือการคัดเลือกเอาจุลินทรีย์ที่เก่งในด้านที่ต้องการมาใช้ มีหลายสูตรที่แตกต่างกันออกไป ที่พบมากในสูตรอีเอ็มก็คือจุลินทรีย์ผลิตกรดแล็คติกและยีสต์ จุลินทรีย์ทั้งสองประเภทอยู่ได้ทั้งภาวะมีและไม่มีออกซิเจน ทนต่อสภาพความเป็นกรดของน้ำเสีย ทำให้สามารถลงไปช่วยย่อยสารอินทรีย์ได้โดยไม่ตายก่อน
อีกพวกที่พบในสูตรอีเอ็มคือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งสามารถสังเคราะห์แก๊สไข่เน่าให้เป็นซัลเฟอร์ได้ ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นได้ แต่เมื่อได้ยินคำว่า “สังเคราะห์แสง” แล้ว อย่าเพิ่งไปคิดว่ามันจะสามารถคายออกซิเจนได้เหมือนพืช เพราะมันไม่มีสีเขียวแบบคลอโรฟิลล์ มันจึงไม่สามารถสร้างออกซิเจนมาเติมให้น้ำได้ ทำได้เพียงสังเคราะห์แสงมาเป็นพลังงานให้ตนเองเท่านั้น
จุลินทรีย์ที่สามารถสร้างออกซิเจนได้คือสาหร่ายสีเขียวน้ำเงินที่อาจเกิดขึ้นอยู่แล้วในภาวะน้ำท่วม ซึ่งมีอาหารของมันมากว่าปกติ แต่ในขณะที่มันผลิตออกซิเจน โดยเฉพาะตอนกลางคืน มันก็ใช้ออกซิเจนเป็นอาหารเช่นกัน ทำให้ออกซิเจนในน้ำอาจจะหมดไปได้
รู้จักอีเอ็มคร่าว ๆ แล้ว ลองไปหาคำตอบของคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้กันก่อนดีกว่า
ทำไมบางเสียงบอกว่าใช้ไม่ได้? ประเด็นแรกที่ถูกพูดถึงคือการใช้อีเอ็มไม่เหมาะกับน้ำท่วม จุดเริ่มต้นอีเอ็มมาจากการใช้ในการเกษตรกรรมของญี่ปุ่น ต่อมาจึงถูกพัฒนาให้ใช้ตามบ้าน ขัดพื้ ซักผ้า ล้างส้วม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพื้นที่ปิดและควบคุม
คำว่าพื้นที่ปิดและควบคุม คือพื้นที่ที่เรารู้สภาพของน้ำ รู้ว่ามีอะไรปนเปื้อนในน้ำบ้าง รู้ขนาดว่ากว้างยาวสูงเท่าไร เพื่อให้เราได้ใส่อีเอ็มถูกประเภทและถูกปริมาณ
กาใส่อีเอ็มลงไปในน้ำเสียก็เหมือนกับการส่งทหารออกไปรบ เราต้องเลือกทหารให้ถูกประเภท เพราะทหารอากาศและทหารเรืออาจไม่เชี่ยวชาญการต่อสู้ภาคพื้นดินเหมือนทหารราบ รวมถึงจำนวนทหารที่ส่งไป ถ้าศัตรูมีหนึ่งแสน เราก็สามารถส่งทหารออกไปอย่างสมน้ำสมเนื้อ เว้นแต่ว่าจุลินทรีย์ของเราจะมีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ก็อาจจะพอสู้ได้ในระดับหนึ่ง
แต่สำหรับน้ำท่วม ทุกพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่เป็นถนน เป็นพื้นที่เปิด พื้นที่น้ำไหล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่สามารถตรวจสอบการปนเปื้อนในน้ำ จึงแตกต่างจากการใช้อีเอ็มในบ่อปลาหรือทำความสะอาดพื้นบ้าน การโยนอีเอ็มบอลลงไปในน้ำไหล ซึ่งมีการหมุนเวียนออกซิเจนอยู่แล้ว อาจทำให้จุลินทรีย์ในอีเอ็มไปแย่งใช้ออกซิเจน จนทำให้ออกซิเจนในน้ำยิ่งลดลง สุดท้ายแล้วจุลินทรีย์จะทำงานได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่าก็ไม่สามารถประเมินได้เลย
ประเด็นที่สองที่เราต้องคำนึงถึงคือจุลินทรีย์เจ้าถิ่น โดยธรรมชาติของจุลินทรีย์d็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับตนเอง และอีเอ็มก็คืจุลินทรีย์ต่างถิ่น เมื่อมันต้องมาอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย มันก็ไม่อาจแย่งจุลินทรีย์เจ้าถิ่นได้ เมื่อขาดอาหารก็ตาย และกลายมาเป็นอาหารของเจ้าถิ่นเอง
นั่นแปลว่าการโยนอีเอ็มโดยไม่ศึกษาให้ดี แทนที่จะแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย กลับทำให้น้ำเน่าเสียขึ้นไปอีกก็เป็นได้
แล้ววิธีการใช้อีเอ็มที่ถูกต้องคืออะไร?
เราต้องแยกความแตกต่างระหว่างอีเอ็มน้ำและอีเอ็มบอลให้ได้ก่อน จากวิธีการทำอีเอ็มบอลสูตรหนึ่งเริ่มต้นมาจากหัวเชื้อจุลินทรีย์หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าอีเอ็มน้ำ นำไปผสมกับกากน้ำตาลและน้ำเปล่า ได้ออกมาเป็นอีเอ็มขยาย นำอีเอ็มขยายไปผสมกับรำละเอียด รำหยาบและดินทราย เพื่อปั้นเป็นลูกจนเป็นอีเอ็มบอล ดังนั้นการนำอีเอ็มหัวเชื้อไปใช้ราดเลยก็ได้เช่นกัน แต่ที่ต้องผสมกากน้ำตาลก็เพราะต้องเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ และที่ต้องปั้นเป็นลูกก็เพื่อถ่วงน้ำหนักให้จุลินทรีย์ลงไปลึกถึงใต้น้ำ
ระหว่างการใช้และการปั้นอีเอ็มก้อนทุกชนิดควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันจุลินทรีย์ตัวที่อาจทำปฏิกิริยากับผิวหนังจนเกิดความผิดปกติได้ และเมื่อปั้นเสร็จควรตากให้แห้งไว้ในร่มอย่างน้อยเจ็ดวัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้กินกากน้ำตาลและเพิ่มจำนวนก่อนใช้ ถ้าใช้โดยไม่ทิ้งไว้ กากน้ำตาลจะยังอยู่ และแทนที่จะเพิ่มจุลินทรีย์ กลับกลายเป็นเพิ่มสารอินทรีย์ละลายน้ำแทน
สรุปแล้วเราควรใช้อีเอ็มแก้ปัญหาน้ำท่วมเน่าเสียหรือเปล่า จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะถือว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าอีเอ็มจะใช้กับน้ำท่วมครั้งนี้ได้ผลหรือไม่ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงในการใช้แต่ละครั้ง แม้อีเอ็มบางสูตรมีสารประกอบที่จะช่วยลดกลิ่นได้จริง แต่การใช้อีเอ็มผิดสูตร ผิดวิธี ผิดปริมาณ ก็ยิ่งทำให้น้ำเน่าเสียได้มากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญหากต้องการจะใช้อีเอ็มคือการศึกษาให้ดีก่อนและใช้ให้ถูกวิธี เพราะอีเอ็มก็เหมือนจุลินทรีย์ทั่วไป ไม่ใช่เครื่องมือพิเศษที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ก็คือความรู้และความเข้าใจ
ถึงการใช้อีเอ็มจะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนนัก แต่เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นวิธีง่าย ๆ ที่เราทุกคนพอจะสามารถร่วมมือกันได้นั่นคือการเก็บขยะและลดการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำนั่นเอง
สำหรับใครที่อยากศึกษาเรื่องการใช้อีเอ็มและประเภทของมันเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้จากลิงก์ที่เราได้รวบรวมไว้ด้านล่าง ลองต่อยอดความรู้ด้วยตัวเองดูนะครับ :
ตอนที่ 9… (ตั้งหลักหลังน้ำลด)
สำหรับครอบครัวไหนที่น้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว เราจะพากันไปตั้งหลักเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมกันครับ!
(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)