ตอนที่ 7 รู้ให้ครบ ระบบน้ำใช้ ฉบับตัวอักษร
ในช่วงภาวะน้ำท่วมอย่างนี้ เราเชื่อว่าหลายครอบครัวคงมีความกังวลเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ บางบ้านเล่าต่อ ๆ กันว่า น้ำที่บ้านมีสีและกลิ่นที่ผิดปกติ ยิ่งมีข่าวว่าน้ำประปาปนเปื้อน ยิ่งทำให้เรากังวลไปกันใหญ่ ว่าน้ำท่วมส่งผลกระทบกับระบบน้ำดื่มน้ำใช้ของเราอย่างไรบ้าง แต่ก่อนที่เราจะตอบคำถามนั้นได้ เราลองไปทำความรู้จักกับระบบน้ำประปาของเราให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า
น้ำประปามาจากไหน?
เมื่อฝนตกลงมา พื้นแผ่นดินบางส่วนได้รองรับน้ำเอาไว้ จนกลายเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำและลำคลอง
และเมื่อเราต้องการแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาใช้ แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรเจือปนอยู่ในน้ำบ้าง เราจึงจัดการน้ำให้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า การประปา ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการผลิตน้ำให้ได้มาตรฐาน
การประปาได้ตัดคลองจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติออกมา เรียกว่าคลองประปา เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบ จากนั้นน้ำดิบจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับคุณภาพน้ำ โดยผ่านขั้นตอนการตกตะกอน การกรอง การฆ่าเชื้อโรค การตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก จากนั้นจึงสูบส่งไปตามท่อเพื่อแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
หลังจากขั้นตอนการผลิต ก็เป็นขั้นตอนการใช้น้ำประปาในครัวเรือน
บ้านทุกหลังจะมีมิเตอร์วัดปริมาณการใช้น้ำติดอยู่หน้าบ้าน โดยมีวาล์วเปิดปิดน้ำซึ่งส่งตรงมาจากการประปา ซึ่งระบบน้ำประปาของแต่ละบ้านก็แตกต่างออกไปตามความต้องการ
บางบ้านที่ไม่สูงมาก หรือผังบ้านไม่ซับซ้อน ก็ต่อท่อไปใช้โดยตรง แต่ถ้าบ้านไหนต้องการควบคุมน้ำให้ไหลแรงทันใจ ก็จะต่อท่อจากวาล์วน้ำไปที่ถังพักน้ำก่อน จากนั้นจะใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำสูบน้ำไปใช้ห้องต่าง ๆ
สำหรับตึกสูงเช่นคอนโด ก็อาจจะเป็นระบบปั๊มน้ำจากถังพักน้ำชั้นล่างขึ้นไปสู่ถังพักน้ำขนาดใหญ่ชั้นบน แล้วปล่อยน้ำจากข้างบนลงมาตามห้องต่าง ๆ ตามแรงโน้มถ่วง
นั่นคือส่วนของการนำน้ำดีเข้าบ้าน เมื่อน้ำดีถูกนำมาใช้ ก็จะกลายเป็นน้ำเสียขึ้น แล้วน้ำเสียเหล่านี้ไปไหน?
หลังจากที่เราใช้ น้ำเสียจะไหลลงท่อระบายน้ำภายในบ้าน เพื่อไปรวมอยู่ที่ถังบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียมีหลายแบบ ได้แก่
1.บ่อเกรอะ-บ่อซึม มีลักษณะเป็นถังสี่เหลี่ยมสำเร็จรูปทรงกระบอกสองบ่อต่อกันฝังในดิน บ่อที่หนึ่งรับน้ำมาจากแหล่งน้ำเสียและบำบัดตามธรรมชาติ น้ำส่วนที่ล้นจากบ่อเกรอะก็จะเข้าไปในบ่อซึม และกระจายน้ำออกไปตามดินรอบ ๆ เมื่อถึงเวลาที่บ่อเต็ม จะต้องมีการดูดสิ่งปฏิกูลจากบ่อเกรอะออกไปทิ้งด้วย
2.ถังบำบัดสำเร็จรูป มีระบบย่อยสลายและระบบระบายน้ำในถังเดียวกัน สามารถแก้ปัญหาเรื่องสิ่งปฏิกูลเต็มบ่อออกไปได้ และมีท่อต่อตรงออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้เลย
น้ำทิ้งจากครัวเรือนส่วนใหญ่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง แต่น้ำทิ้งบางส่วนจะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ เพื่อส่งไปบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รวบรวมน้ำเสียจากที่ต่าง ๆ เข้าสู่การกำจัดมวลสารในน้ำ
ตะกอนของเสียที่ได้จากการบำบัดจะถูกใช้ไปทำเป็นปุ๋ยในการเกษตร ส่วนน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้นจะถูกปล่อยกลับลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อไป
นั่นคือภาพรวมของระบบน้ำประปาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทีนี้เราลองไปดูกันว่า น้ำท่วมมีผลกระทบต่อระบบประปาของเราอย่างไร
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตน้ำ น้ำท่วมที่ไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ มาเป็นเวลานานพัดพาสิ่งสกปรกติดตัวมามากมาย ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้นั้นปนเปื้อนมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุให้การประปาต้องใช้เวลาจัดการกับน้ำนานขึ้น หรือลดปริมาณการผลิตลงเพื่อควบคุมให้สามารถดื่มใช้น้ำได้ตามปกติ
กรณีน้ำขุ่นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาจเป็นเพราะการเพิ่มแรงดันน้ำภายในท่อประปาเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้ตะกอนที่ตกค้างในเส้นท่อหลุดออกมากับน้ำด้วย
กรณีที่น้ำมีสีเหลืองอาจเป็นเพราะมีตะกอนปนเหมือนน้ำขุ่น หรืออาจเป็นเพราะน้ำประปาได้ผ่านการผสมรวมกับวัสดุธรรมชาติบางอย่าง เช่นหญ้าแห้ง จนทำให้สีของหญ้ากลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
หากได้กลิ่นคลอรีนในน้ำสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการรองน้ำตั้งทิ้งไว้ 30 นาที หรือจะต้มก่อนดื่มเพื่อความมั่นใจก็ได้เช่นกัน
สำหรับบ้านหรือคอนโดที่ใช้ระบบถังพักน้ำ ต้องตรวจสอบฝาของถังน้ำใต้ดินให้ดี เพราะน้ำที่ท่วมสูงจะทำให้ถังน้ำจมอยู่ใต้น้ำ ถ้าฝาขอถังน้ำไม่สามารถป้องกันน้ำเข้าได้ น้ำใช้ของเราก็มีสิทธิ์ที่จะปนเปื้อนได้ ควรต่อท่อตรงจากท่อประปาหน้าบ้านเข้าตัวบ้านเลย แม้น้ำจะไหลไม่แรงพอ แต่ก็มั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ปนเปื้อนจากน้ำท่วมแน่นอน
หลายคนเจอปัญหาเรื่องการขับถ่าย น้ำท่วมอาจทำให้น้ำจากท่อระบายน้ำไหลเข้ามาเต็มถังบำบัดน้ำเสีย และเอ่อย้อนกลับขึ้นไปตามท่อระบายน้ำในบ้าน ส่งผลให้เรากดชักโครกไม่ลงนั่นเอง วิธีการจัดการคืออุดส่วมและท่อระบายน้ำที่ชั้นล่าง ไม่ควรใช้ส้วมในช่วงน้ำท่วม เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงดันน้ำในท่อระบายน้ำ อาจทำให้ของเสียล้นออกมาได้
สำหรับระบบการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพในช่วงน้ำท่วม น้ำบางส่วนอาจยังคงผ่านระบบบำบัดน้ำเสียเหมือนเดิม เช่นเดียวกับน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ผ่านการบำบัด แต่ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลบ่าออกมาในคราวเดียวกัน ก็เกินจากสภาพปกติทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ ทำให้ส่งผลต่อแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะช่วยธรรมชาติได้คือการร่วมมือกัน รักษาความสะอาดของน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
ถึงตรงนี้หากใครยังคงกังวลเรื่องน้ำดื่ม-ใช้ หรือไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพน้ำ สามารถศึกษาวิธีการผลิตน้ำดื่มน้ำใช้เพิ่มเติม และเราได้รวบรวมกรรมวิธีต่าง ๆ เอาไว้ให้ในลิงก์ด้านล่าง ลองศึกษาและหาวัสดุจำเป็นต้องใช้มาทดลองกันดูนะครับ :
ตอนที่ 8 (รู้ทันน้ำเสียเราเคลียร์ได้) เราจะพาไปรู้จักปัญหาน้ำเสียให้มากขึ้น ทั้งที่มาของน้ำเสียและวิธีการบำบัด รวมถึงคำถามที่ทุกคนคาใจที่สุด อีเอ็มบอลช่วยบำบัดน้ำเสียได้จริงหรือเปล่า?
(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)