Warning: The magic method Vc_Manager::__wakeup() must have public visibility in /home/ifeelsom/domains/porpiangwriter.com/public_html/wp-content/plugins/js_composer/include/classes/core/class-vc-manager.php on line 203
ตอนที่ 5 ใจเย็นยามอพยพ ฉบับตัวอักษร – PorpiangWriter.com
ตอนที่ 5 ใจเย็นยามอพยพ ฉบับตัวอักษร

ตอนที่ 5 ใจเย็นยามอพยพ ฉบับตัวอักษร


หลังการประกาศเตือนภัย เราคงจะพอเห็นได้ว่าบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ เริ่มมีน้ำเข้ามาแล้ว บางครอบครัวเริ่มทยอยอพยพออกไป บางครอบครัวก็อยู่กับบ้านตามปกติ สำหรับใครที่ยังอยู่กับบ้านลองพิจารณาสามสิ่งที่ต้องสังเกตอีกครั้ง (แบบที่กล่าวไปเมื่อตอนที่ 4)

– เช็คระดับน้ำ ทั้งบ้านเราเองและบริเวณใกล้เคียง
– สุขภาพของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก ผู้ป่วย คนชรา คนพิการ
– ดูความพร้อมที่เตรียมไว้

หากวันนี้สถานการณ์ที่คุณอยู่ในกรณีที่คุณคิดว่าควรจะอพยพ เราจะพาคุณไปเตรียมตัวกัน

ขั้นตอนการเตรียมตัวอพยพ ถ้าจะให้จำง่าย ๆ ก็เหมือนกับการไปเที่ยว เราเริ่มจากคำถามที่ว่า

– ไปไหน/นานเท่าไร?
– เอาอะไรไปบ้าง?
– จะไปอย่างไร?

1.ไปไหน/นานเท่าไร?

การอพยพส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความหมายของคุณว่าจะอพยพไปที่ไหน : ไปอยู่บ้านญาติ ไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ หรือไปที่ศูนย์อพยพ

การเตรียมของที่จำเป็น ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่วางแผนจะอพยพไป : ห้าวัน เจ็ดวัน สองอาทิตย์ หรือหนึ่งเดือน และขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่อพยพไปพร้อมกับคุณด้วย ทั้งนี้ควรเตรียมของทุกอย่างล่วงหน้าใส่กระเป๋าเอาไว้ ถ้ารวมเป็นใบเดียวได้จะดีที่สุด เพราะเมื่อถึงยามฉุกเฉินจริง ๆ เพียงคุณคว้ากระเป๋าใบนี้ก็ออกจากบ้านได้เลยทันที

2.เอาอะไรไปบ้าง?

สิ่งที่ต้องเตรียมก็ได้แก่ น้ำ อาหารสำเร็จรูป ไฟฉายหรือเทียนไข ยาต่าง ๆ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ขอความช่วยเหลือ เสื้อชูชีพ

อย่าลืมว่าควรเตรียมแต่พอดี อย่าให้หนักเกินไปจนเป็นภาระ

เมื่อเตรียมของเสร็จก็เป็นขั้นตอนการปิดบ้าน ยกของสำคัญขึ้นที่สูง ตัดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน ปิดแก๊ส อุดช่องน้ำ จดบันทึกรายการทรัพย์สินทั้งหมดเผื่อไว้ตรวจสอบให้ครบตอนกลับมา และอย่าลืมล็อกบ้านให้เรียบร้อย

ศูนย์อพยพส่วนใหญ่จะแยกระหว่างผู้ประสบภัยกับสัตว์เลี้ยง เพื่อควบคุมเรื่องการจัดการและความสะอาด ดังนั้นเพื่อความสบายใจของคนรักสัตว์ ลองติดต่อหาศูนย์อพยพสัตว์เลี้ยงเพื่อนำไปฝากไว้ระหว่างช่วงอพยพครับ

ถ่ายภาพบ้านของคุณที่น้ำท่วมเอาไว้ ซึ่งควรถ่ายให้เห็นบ้านเลขที่ด้วย สำหรับใช้เป็นหลักฐานการเบิกประกันหรือค่าชดเชยต่าง ๆ ในภายหลัง

จดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินต่าง ๆ พกติดตัวไว้ หากจดจำหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ ๆ ได้จะดีที่สุด

3.จะไปอย่างไร?

หากคุณตัดสินใจที่จะอพยพ ควรทำตั้งแต่ตอนที่น้ำยังไม่มาหรือน้ำไม่สูงมาก ออกเดินทางได้สะดวก เพราะหากน้ำสูง การอพยพจะเป็นไปอย่างลำบากกว่าที่คิด

ก่อนออกจากบ้าน ศึกษาเส้นทางจากบ้านสู่ที่หมายอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่น้ำท่วม และควรนัดหมายจุดนัดพบกับสมาชิกทั้งหมดให้พร้อมเผื่อกรณีพลัดหลง

ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ กรณีที่ต้องเดินลุยน้ำ ควรตรวจสอบกระแสไฟฟ้าในน้ำก่อนทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการเดินใกล้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าทุกชนิด

หากเส้นทางที่คุณอพยพเริ่มมีน้ำเข้ามาบ้าง ไม่ควรเดินตามเส้นทางน้ำไหล เพราะน้ำตื้นก็ทำให้เราเสียหลักได้ การเดินลุยน้ำจะทำได้ยากกว่าปกติ ควรพกขนมประเภทแป้งหรือน้ำตาลเพื่อเพิ่งพลังงาน และควรพกไม้ขนาดยาวเพื่อใช้นำทาง ป้องกันการตกหลุมบ่อใต้น้ำที่เรามองไม่เห็น

หากพบเจอจระเข้หรืองูขณะเดินลุยน้ำ อย่าตกใจหรือวิ่ง เพราะจะยิ่งเป็นอันตราย ให้ยืนเฉย ๆ รอจนกว่าจระเข้จะผ่านไป แต่ในกรณีที่มันพุ่งเข้ามาจะทำร้าย ให้ยื่นไม้หรือสิ่งอื่นเข้าปาก เพราะธรรมชาติของการกินเหยื่อของจระเข้ จะงับและลากเหยื่อลงไปในน้ำ และระหว่างที่จระเข้ลากไม้ลงไปกินในน้ำ ค่อยวิ่งหนีอย่างระมัดระวัง

เมื่อถึงที่หมาย ในกรณีที่หมายคือศูนย์อพยพ ล้างมือและเท้าให้สะอาดหากคุณลุยน้ำมา ก่อนเข้าไปในที่หมายทันที สิ่งที่จำเป็นต้องใช้แน่ ๆ เพื่อลงงทะเบียนเข้าศูนย์อพยพคือหลักฐานความเป็นตัวตนของคุณ เช่นบัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) ควรเตรียมมาจากบ้านให้พร้อม ขั้นตอนและกฎระเบียบขึ้นอยู่กับแต่ละศูนย์อพยพ แต่โดยทั่วไปสิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ คือ :

ไม่ควรเก็บอาหารที่ปรุงสดไว้กินข้ามมื้อ เพราะอาหารอาจบูดและอาจทำให้เกิดโรคได้ หากมีอาหารบูดไม่ใช่แค่ทิ้ง แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบด้วยเพื่อระงับการแจกอาหารชนิดที่บูดให้ผู้อื่น

ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร ปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจาม คำนึงถึงความสะอาดส่วนรวมด้วยการรักษาความสะอาดส่วนตนให้ดีที่สุด

หากเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าจะมีโรค ให้รีบพบหน่วยแพทย์ทันที ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย

ขอให้คิดอยู่เสมอว่า ในศูนย์อพยพไม่ได้มีเพียงแต่เราเพียงครอบครัวเดียว ยังมีคนอื่นอีกมากทั้งผู้ประสบภัยด้วยกัน อาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเอง ศูนย์อพยพก็จะเต็มไปด้วยผู้ประสบภัย แต่ถ้าเราคิดถึงส่วนรวมแล้วช่วยคนอื่นตามความสามารถ ศูนย์อพยพก็จะเต็มไปด้วยอาสาสมัครที่ดูแลกันและผ่านพันวิกฤติน้ำท่วมไปพร้อม ๆ กันครับ

ตอนที่ 6 (ตุนอย่างมีสติ) ใครที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการตุนข้าวของ ไปดูกันว่าเราตุนอย่างไรให้พอดี

(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart