ตอนที่ 3 เตรียมให้ชัวร์ ไม่ต้องกลัวน้ำ ฉบับตัวอักษร
ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ว่าน้ำจะท่วมบ้านเราหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ การเตรียมบ้านของเราให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ แม้ภัยพิบัติมาเราก็ยังดูแลตนเองได้ และไม่ตกเป็นผู้ประสบภัยแน่นอน
อย่าคิดว่าการเตรียมบ้านเพื่อรับมือกับน้ำท่วมเป็นเรื่องยุ่งยาก เพียงแค่ตั้งสติและค่อย ๆ ตรวจสอบบ้านของคุณตามสามขั้นตอนดังนี้
1.ตรวจสอบรอบบ้าน
ดูว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านของเราเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยรวมเพื่อประเมินสถานการณ์ ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมบริเวณบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงจุดที่น้ำท่วม ที่สำคัญที่สุดคือควรตรวจสอบหน่วยงานให้ความช่วยเหลือที่สำคัญหรือศูนย์อพยพใกล้เคียง ควรรู้เส้นทางหรือหมายเลขโทรศัพท์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในยามฮุกเฉินที่เราต้องการช่วยเหลือ
2.จัดการสินทรัพย์
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ การป้องกันน้ำเข้า และจัดการกับเข้าของ
การป้องกันน้ำเข้า อันดับแรกคือการปิดประตูและหน้าต่างที่อยู่ต่ำ และจัดการกับรอบต่อตามจุดต่าง ๆ เช่นรอยต่อประตู รอยต่อก้อนอิฐ รอยร้าว รอยต่อรอบสายไฟ/สายโทรศัพท์ รวมถึงปลั๊กไฟและสวิตช์ ใช้ซิลิโคนจัดการอุดรอยต่อที่อยู่ต่ำให้สนิท
อย่าสนใจน้ำด้านบน จนลืมอุดน้ำที่อาจมาจากด้านล่าง ทั้งจากท่อน้ำทิ้ง อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ และโถสุขภัณฑ์ รวมถึงสนามหญ้าในบริเวณบ้านเองก็เป็นจุดที่น้ำซึมผ่านดินเข้ามาได้ด้วย
สิ่งที่ควรคิดในการปิดบ้านไม่ใช่แค่น้ำ เพราะช่องว่างเหนือน้ำขึ้นมาอาจเป็นจุดที่สัตว์มีพิษหรืออันตรายอื่น ๆ เข้ามาได้ ควรปิดหรือเฝ้าระวังให้ดี เมื่อป้องกันน้ำเข้าได้แล้ว ต่อไปก็มาจัดการกับข้าวของกัน
บ้านที่มีสัตว์เลี้ยงควรอพยพให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยให้ไวที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ และลดภาระที่ต้องดูแล
ทรัพย์สินขนาดเล็กที่เคลื่อนย้ายได้ควรย้ายขึ้นไปชั้นบนสุดเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสำคัญทั้งหลาย หุ้มวัสดุกันน้ำให้ดีแล้วแล้วรวมไว้ที่เดียวกัน
หากเป็นทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จัดการหาทางป้องกันให้เรียบร้อย เช่นตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรืออื่น ๆ
และที่สำคัญที่สุดคือควรปิดแก๊สและตัดวงจรไฟฟ้าเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีการแยกเบรคเกอร์ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง สามารถตัดวงจรเฉพาะชั้นล่างได้
ส่วนทรัพย์สินขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ ควรหาทางจอดในที่สูงเพื่อหนีน้ำ แต่ถ้าหาที่จอดไม่ได้ ลองศึกษาวิธีการคลุมรถส่วนล่างเพื่อปกป้องเครื่องยนต์ดูนะครับ
3.เตรียมอยู่กับน้ำ
เพื่อให้เราสบายใจว่ายังอยู่ได้แม้ภัยมา โดยเน้นที่การเตรียมพร้อมแต่พอดี เพราะปริมาณของที่มากเกินไปนั้นแทนที่จะเป็นสิ่งช่วยเหลือ กลับกลายเป็นภาระไปแทน
ก่อนที่จะเตรียมสิ่งของ ควรดูแลเรื่องคนก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเด็ก ผู้ป่วย คนชรา คนพิการ ควรอพยพไปยังจุดปลอดภัยให้เร็วที่สุด
เมื่อคนพร้อมแล้ว เข้าสู่ขั้นตอนการจัดถุงยังชีพของตัวเอง โดยนับคนในจำนวนของครอบครัวก่อนเพื่อประเมินสถานการณ์การเตรียมของอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย
– น้ำ ตัดกังวลสถานการณ์น้ำดื่มขาดตลาดด้วยการหาซื้อเครื่องกรองน้ำไว้เป็นของตนเอง และเตรียมภาชนะไว้รองดื่มน้ำ รวมถึงสารทำความสะอาดภาชนะ
– อาหารสำเร็จรูป ช่วยให้เราอยู่ในสภาวะฉุกเฉินได้นานขึ้น ควรใช้อาหารที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าปรุง
– ของจำพวกอาหารแช่แข็งอาจอุ่นกินไม่ได้หากไฟถูกตัด
– ควรเตรียมที่เปิดกระป๋องหรือเตาพกพาเล็ก ๆ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
– จำพวกของมีคมต่าง ๆ ให้หาที่เก็บที่มิดชิดป้องกันอันตรายเมื่อน้ำมา
– ควรมีถุงดำเตรียมไว้ด้วย
(- เตรียมอุปกรณ์จำเป็นหากต้องการแสงสว่างแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น ไฟฉาย ถ่ายไฟฉาย เทียนไข)
– ยา เตรียมตั้งแต่ยาทั่วไป ยาสำหรับโรคประจำตัว ยาสำหรับแมลงสัตว์กัดต่อย และแน่นอนยากันยุงด้วย เพราะน้ำท่วมทำให้ยุงชุมเป็นพิเศษ
– ควรเตรียมความพร้อมเรื่องการขับถ่าย โดยศึกษาวิธีการทำส้วมฉุกเฉินเอาไว้
– เตรียมอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารฉุกเฉิน เช่นแบตเตอรี่โทรศัพท์สำรอง เครื่องรับวิทยุพกพา
– ควรมีอุปกรณ์เพื่อขอความช่วยเหลือเช่น เสื้อชูชีพ นกหวีด
แม้สิ่งที่เราต้องดูแลในภาวะน้ำท่วมจะดูเยอะ แต่ถ้าคิดให้ดี ๆ ทุกสิ่งก็พิจารณามาจากชีวิตประจำวันทั้งสิ้น หากคุณตั้งสติและคิดตามสามขั้นตอนทั้งหมด การรับมือกับน้ำท่วมจะไม่ยากอีกต่อไป
เราได้รวบรวมลิงก์ที่นำไปสู่ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับคุณไว้ในคำบรรยายใต้วิดีโอนี้แล้ว ลองศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบ้านคุณนะครับ :
ตอนที่ 4 (เตรียมใจสู้พร้อมอยู่กับน้ำ) เราจะพาไปเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม ดูการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำในภาวะที่น้ำมาแล้วนะครับ
(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)