Warning: The magic method Vc_Manager::__wakeup() must have public visibility in /home/ifeelsom/domains/porpiangwriter.com/public_html/wp-content/plugins/js_composer/include/classes/core/class-vc-manager.php on line 203
ตอนที่ 6 ตุนอย่างมีสติ ฉบับตัวอักษร – PorpiangWriter.com
ตอนที่ 6 ตุนอย่างมีสติ ฉบับตัวอักษร

ตอนที่ 6 ตุนอย่างมีสติ ฉบับตัวอักษร


เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นภาพนี้ ภาพที่ชั้นวางของเกลี้ยงสนิท ไม่ว่าจะเป็นที่มินิมาร์ทเล็ก ๆ หรือซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่

เราแตกตื่นกันว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า น้ำดื่มขึ้นราคา 3-4 เท่า ข้าวสารอาหารแห้งเริ่มขาดตลาด ไหนจะไม่แน่ใจว่าครอบครัวของเราจะตกเป็นผู้ประสบภัยอยู่ในบ้านเป็นเวลานานหรือเปล่า หลายคนจึงเริ่มซื้อไปกักตุน จากซื้อน้ำทีละสองสามขวด ต้องซื้อทีละสิบขวดเผื่อของขาดตลาด ยิ่งซื้อเยอะของยิ่งหมดเร็ว พอหมดเร็วก็กลัวว่าจะหาซื้อไม่ได้ ทันทีที่ของมาก็ซื้อเยอะ ยิ่งซื้อเยอะของก็ยิ่งหมดเร็ว ทั้งเยอะทั้งเร็ว จนชวนให้สงสัยว่าเราอยู่ในภาวะขาดแคลนสินค้าจริงหรือเปล่า?

เราลองถอยมาดูภาพรวมของกำลังผลิตทั้งประเทศกัน เริ่มต้นที่น้ำดื่ม ปกติแล้วคนเราบริโภคน้ำดื่มที่วันละประมาณสองลิตร รวมคนไทยทั้งประเทศจะดื่มได้วันละ 134 ล้านลิตร ในขณะที่เรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณสองพันล้านลิตรต่อวัน ผลพวงจากน้ำท่วม โรงงานผลิตน้ำดื่มทั่วประเทศหนึ่งหมื่นแห่งเสียกำลังการผลิตไป 30% ทำให้เรายังเหลือกำลังการผลิตอีก 1,400 ล้านลิตรต่อวัน ถ้าเทียบกับการบริโภคน้ำดื่มของคนไทยทั้งประเทศแล้ว น้ำก็ยังเพียงพอต่อความต้องการขนาดสามารถเก็บไว้ในโหนกอูฐได้วันละอีกหกล้านตัว

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางยี่ห้อก็เริ่มเร่งการผลิตขึ้นมา จากหกล้านซองต่อวัน เป็นเจ็ดล้านซองต่อวัน แถมยังเอาวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดมาช่วยผลิตเพิ่มอีก

แล้วไข่ละ? กำลังการผลิตไข่ไก่โดยปกติอยู่ที่ประมาณวันละ 25 – 27 ล้านฟอง น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เราสูญเสียพื้นที่ฟาร์มไก่ไข่ในจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง คิดเป็น 5% ของพื้นที่ฟาร์มไก่ไข่ทั้งหมด และส่งผลให้ไข่ไก่หายไปจากระบบ 1- 2 เปอร์เซ็นต์

การขนส่งหรือโลจิสติกเป็นสาเหตุหลักของปัญหา น้ำท่วมรถก็วิ่งไม่ได้ หนึ่งในการแก้ไขปัญหาก็คือใช้เส้นทางอ้อม การขนส่งบางเส้นทางต้องยอมขับรถอ้อมอีกกว่าร้อยกิโลเมตร เพื่อให้สินค้าจากแหล่งผลิตมุ่งตรงมายังจุดกระจายสินค้าได้ สินค้ายังมาถึงได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเวลาที่ใช้ในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นเมื่อเรากวาดสินค้าจนหมดจากชั้น จึงมีโอกาสที่จะมีช่วงเวลารอสินค้าระหว่างที่ชั้นว่างเปล่า ซึ่งเป็นภาพที่เราไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก และแน่นอนสิ่งที่คนหลายคนทำก็คือการถ่ายรูปและอัปโหลดลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ภาพซูเปอร์สโตร์ที่ว่างเปล่าถูกเผยแพร่ออกไปที่แล้วที่เล่า จนทุกคนอาจพากันคิดว่า ถ้าของมาต้องรีบซื้อ

ปริมาณการซื้อสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยอดขายการซื้อน้ำดื่มในซูเปอร์สโตร์เมื่อต้นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์จากปลายเดือนกันยายน รวมไปถึงอาหารสำเร็จรูปและไข่ไก่เองก็เช่นกัน เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า จากที่น้ำร้อยขวดเคยขายหมดภายในหนึ่งชั่วโมง แต่ในช่วงน้ำท่วม น้ำร้อยขวดอาจขายหมดได้ภายในเวลายี่สิบนาที

อีกเรื่องหนึ่งอาจตอบคำถามได้ว่าเราอยู่ในภาวะขาดแคลนสินค้าจริงหรือเปล่า จากการสำรวจตลาดสดหลายแห่งพบว่าสินค้าต่าง ๆ ที่ขาดตลาดในซูเปอร์สโตร์ ยังมีขายตามปกติในร้านขายของชำเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือแม้แต่วัสดุก่อสร้างจำพวกซิลิโคน ปูนขาวที่ว่าขาดตลาดก็ยังคงหาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างเล็ก ๆ ทั่วไป

เรามองแต่ชีวิตแบบที่คุ้นเคยหรือเปล่า เมื่อเห็นที่ที่เราไปซื้อของประจำของหมด ก็อาจเผลอคิดไปว่าทุกที่จะต้องของหมดตาม อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่รู้ หลายคนกลัวว่าน้ำจะท่วมจนไม่สามารถออกมาซื้อของได้ จึงต้องซื้อให้มากไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าต้องซื้อแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ถ้าเรารู้ความต้องการการบริโภคของแต่ละคนในแต่ละวัน เราอาจจะพอประเมินความต้องการคร่าว ๆ ของแต่ละครอบครัวได้

นักวิชาการสาขาโภชนวิทยาระบุว่า ผู้ชายจะรับประทานข้าวสารสองขีดต่อวัน หรือเท่ากับข้าวสวยสิบทัพพี ในขณะที่ผู้หญิง เด็ก และคนชรา อยู่ที่ประมาณคนละหนึ่งขีดต่อวันหรือข้าวสวยหกทัพพี ดังนั้นครอบครัวขนาดสี่คนจะรับประทานข้าวสารบรรจุถุงห้ากิโลกรับมหนึ่งถุงภายในเวลา 9 วัน

วิชาสุขศึกษาบอกเรามาตั้งแต่เด็กว่า เราควรดื่มน้ำวันละแปดแก้ว หรือประมาณ 1.5 – 2 ลิตร นั่นแปลว่าครอบครัวขนาดสี่คน ดื่มน้ำบรรจุขวดขนาดเล็กหนึ่งโหลภายในเวลา 1 วัน

สำหรับกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าเรารับประทานตลอดวันโดยไม่มีอะไรอย่างอื่นเลย จะให้พลังงานเพียงพอประมาณ 4 – 5 ซองต่อวัน แต่ถ้ากินแบบนี้ทุกวัน ก็อาจมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ของการคำนวณความต้องการการบริโภคในแต่ละวันแบบคร่าว ๆ ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในลิงก์ที่เรารวบรวมไว้ด้านล่าง แล้วนำไปคำนวณกับความต้องการของครอบครัวคุณดูนะครับ :

แน่นอนว่าการตุนข้าวของไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในภาวะน้ำท่วมอย่างนี้เราต่างไม่รู้ว่าเราจะต้องตกเป็นผู้ประสบภัยเมื่อไรและอีกนานแค่ไหน นั่นจึงทำให้เราตุนข้าวของด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าหากเราตั้งสติอีกสักนิด ศึกษาให้มากขึ้น เราก็จะสามารถตุนข้าวของได้อย่างมีสติมากขึ้น ทีนี้ทุกครั้งที่อยู่หน้าชั้นวางสินค้า ลองคิดอีกสักนิดก่อนหยิบว่าเราต้องการมันจริงหรือเปล่า เพราะในขณะที่มันเกินความต้องการของเรา มันอาจจะเป็นสิ่งที่ขาดในความต้องการของใครอีกหลายคน

(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart