Warning: The magic method Vc_Manager::__wakeup() must have public visibility in /home/ifeelsom/domains/porpiangwriter.com/public_html/wp-content/plugins/js_composer/include/classes/core/class-vc-manager.php on line 203
ตอนที่ 4 เตรียมใจสู้ พร้อมอยู่กับน้ำ ฉบับตัวอักษร – PorpiangWriter.com
ตอนที่ 4 เตรียมใจสู้ พร้อมอยู่กับน้ำ ฉบับตัวอักษร

ตอนที่ 4 เตรียมใจสู้ พร้อมอยู่กับน้ำ ฉบับตัวอักษร


สำหรับใครที่เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมไว้อย่างดีแล้ว ก็อาจจะยังคงกังวลว่าถ้าน้ำมาจริง ๆ จะรับมือไหวหรือเปล่า ถ้าคุณกังวลอยู่ ลองติดตามข่าวสารและประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

สามสิ่งที่ต้องสังเกต :

1.ระดับน้ำ ให้พิจารณาระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ใกล้เคียง
2.สุขภาพของคนในครอบครัว เด็ก ผู้ป่วย คนชรา คนพิการ อาจทนต่อภาวะน้ำท่วมได้ยากกว่าคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
3.ความพร้อมที่เตรียมไว้ ทั้งความเป็นอยู่หากน้ำมา และปกป้องทรัพย์สินมีค่าในกรณีที่ต้องอพยพ

ลองพิจารณาสามสิ่งนี้ตามสภาพการณ์ของคุณเอง เพราะท้ายที่สุดการตัดสินใจว่าจะอพยพหรือไม่เป็นของแต่ละครอบครัวซึ่งมีปัจจัยต่างกัน แต่ถ้ายังไม่มั่นใจว่าถ้าไม่อพยพจะอยู่ได้หรือไม่ ลองไปดูวิธีการอยู่กับน้ำกันครับ

1.ความปลอดภัยในบ้าน

ไฟฟ้าเป็นสิ่งแรกที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เราต้องมีสติและจัดการกับมันอย่างระมัดระวัง ควรสับคัตเอาต์ตัดระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับน้ำหรือเปียกน้ำ ห้ามแตะต้องอะไรก็ตามที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เช่นสวิตช์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า หากมิเตอร์ไฟฟ้าอยู่ต่ำหรือใกล้ระดับน้ำ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้ช่วยจัดการให้

บ้านไหนที่มีแก๊สควรปิดให้เรียบร้อย หากได้กลิ่นแก๊สเมื่อไรควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท อย่าจุดไฟหรือทำอะไรที่ทำให้เกิดประกายไฟ

จัดการทางเดินไปยังจุดต่าง ๆ ของบ้านให้เรียบร้อย ระหว่างทางอาจมีอันตรายจากเศษแก้ว ตะปู ของแหลมอื่น ๆ รวมถึงโคลนลื่นที่มากับน้ำ

2.การใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้าน

น้ำสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากยามน้ำท่วม หากน้ำประปายังใช้งานได้ควรหาภาชนะสำรองไว้ แต่น้ำที่จะนำมาใช้ในภาวะน้ำท่วมนั้นปนเปื้อนง่าย จึงควรตรวจเช็คคุณภาพน้ำทุกครั้งก่อนใช้ หากพบว่าน้ำไม่สะอาด ต้องต้มหรือกรองให้สะอาดอย่างถูกต้อง

หากจะทำอาหารในบ้าน ไม่ควรใช้เตามีควัน และต้องมั่นใจว่าดับเรียบร้อยหลังใช้งาน

เมื่อมีขยะอย่าทิ้งลงน้ำโดยตรง เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดเชื้อโรค ให้ทิ้งลงถุงดำ และผูกปากถุงให้มิดชิด

ไม่ควรขับถ่ายลงน้ำ หากส้วมใช้งานไม่ได้ ควรถ่ายลงถุงพลาสติกและใส่ปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค

ระมัดระวังเด็กเป็นพิเศษจากอันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์มีพิษที่อาจมากับน้ำ

เตรียมแบตเตอร์รี่โทรศัพท์สำรองให้พร้อม ใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

อย่าปล่อยให้สมาชิกครอบครัวเสียสุขภาพจิต ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาดความตึงเครียดด้วย

3.ความปลอดภัยเมื่อต้องออกจากบ้าน

หากมีความจำเป็นที่จะต้องออกจากบ้าน ควรแต่งกายให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว ใส่รองเท้าบู๊ต หรือถ้าหาไม่ได้ก็ใช้ถุงพลาสติกใส่แทน

ไม่ควรเดินตามเส้นทางน้ำไหล เพราะความสูงของน้ำแค่ 15 เซนติเมตรก็ทำให้เสียหลักได้ ควรพกไม้ยาวติดตัวไปด้วย เพราะระหว่างทางอาจมีพื้นเป็นหลุมอยู่ใต้น้ำ ไม้จะช่วยเป็นตัวนำทางที่ดี และยังสามารถใช้จัดการกับสัตว์ที่จะเข้ามาใกล้ได้ด้วย ควรอยู่ให้ห่างจากเสาไฟฟ้า สายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าใด ๆ บนท้องถนนมากที่สุด หากพบว่ามีจุดใดชำรุด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ถ้าต้องออกจากบ้านในกรณีน้ำสูง สองสิ่งที่ควรมีอย่างยิ่งคือ สวมเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัย และพกนกหวีดกรณีต้องการความช่วยเหลือ

4.การดูแลสุขภาพและโรคที่มากับน้ำท่วม

ไม่ควรกินอาหารดิบทุกชนิด ควรอุ่นร้อนหรือทำให้สุกก่อนบริโภคทุกครั้ง หากเป็นอาหารกระป๋อง ให้ดูที่กระป๋องไม่บุบ ไม่เป็นสนิม และไม่หมดอายุ เพราะอาจจะทำให้เกิดอุจจาระร่วง หากมีอาการควรหาช่องทางรักษา ห้ามถ่ายลงน้ำเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจาย

จำไว้เสมอว่าน้ำอาจมีเชื้อโรค ให้ระวังน้ำเข้าตา หรือแผล ไม่ควรแช่น้ำเป็นเวลานาน ควรล้างมือล้างเท้าทุกครั้งหลังลุยน้ำ เพราะเชื้อโรคในน้ำอาจเป็นที่มาของโรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า ผื่นคัน

ช่วงน้ำท่วมยุงจะเยอะกว่าปกติ ควรมียากันยุงไว้ป้องกัน

ล้างมือให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งนำมาสู่โรคตาแดง

หากใครมีโรคประจำตัว ต้องดูแลตัวเองด้วยการทานยาให้ตรงเวลา

นั่นคือตัวอย่างคร่าว ๆ ของการอยู่ร่วมกับน้ำ สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถคลิกได้ที่ลิงก์ที่เราได้รวบรวมไว้อยู่ใต้คลิปนะครับ :

แม้ว่าเราจะอยู่กับน้ำได้แล้ว แต่ก็ยังต้องตรวจสอบจุดรั่วซึมตามบ้านทุกวันว่ามีเพิ่มเติมจากของเดิมหรือเปล่า ติดตามข่าวสารเท่าที่ทำได้ ดูเส้นทางไปโรงพยาบาล หรือศูนย์อพยพใกล้เคียงระหว่างรอน้ำลด หรือรอความช่วยเหลือ หากเราวางตัวเป็นผู้ประสบภัยที่ดี เราก็จะผ่านวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ด้วยดีพร้อม ๆ กันครับ

ตอนที่ 5 (ใจเย็นยามอพยพ) ใครที่ประเมินสถานการณ์แล้วคิดว่าควรอพยพ เราควรจะเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพอย่างไร

(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart