ตอนที่ 2 ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมคร่าว ๆ ด้วยตนเอง ฉบับตัวอักษร
สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้หลายคนเริ่มสงสัยว่าจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ เมื่อพยายามค้นหาคำตอบจากหลายที่ก็พบว่ามีข้อมูลมากมายจนจับต้นชนปลายแทบจะไม่ถูก ปัญหาคือ เราไม่รู้ว่าข้อมูลไหนบ้างที่จำเป็นต่อการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ข้อมูลหลายอย่างอาจฟังดูยากและสับสนในช่วงแรก แต่ถ้าเราค่อย ๆ ทำความรู้จักมันละก็ ความไม่รู้และกังวลจะหมดไป
ในวันนี้เราจะมาตอบสามคำถามสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถประเมินสถานการณ์น้ำท่วมได้ง่ายด้วยตนเอง ไม่ต้องรอคำตอบจากใคร เพื่อที่คุณจะได้เตรียมพร้อมและหลีกเลี่ยงการเป็นผู้ประสบภัยแม้น้ำจะมาถึงแล้ว
คำถามข้อแรกคือ : บ้านเราจะท่วมหรือไม่?
คำถามนี้กวนใจตลอดเวลา กลางวันไม่เป็นอันทำงาน กลางคืนนอนหลับไม่ลง อย่างแรกที่คุณต้องรู้คือจุดยุทธศาสตร์ของเรา รู้จักเขตที่บ้านเราอยู่ ดูว่าอยู่จุดไหนของแผนที่ รวมถึงจดจำเขตใกล้เคียงในละแวกบ้าน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลได้เวลาฟังข่าวตามสื่อต่าง ๆ รู้ทิศทางการระบายน้ำออกสู่ทะเล ว่าผ่านใกล้บ้านเราหรือไม่ รู้จักจุดเสี่ยงที่สำคัญในขณะนั้นเช่น ความห่างจากบ้านเรากับคันกั้นน้ำที่กั้นมวลน้ำอยู่ หรือคลองสายหลักใกล้บ้าน เพราะคลองเป็นเส้นทางที่น้ำจะใช้เดินทางมา บ้านไหนใกล้คลองจะมีความเสี่ยงที่จะโดนน้ำท่วม เป็นต้น
ถ้าเรารู้จักเขตบ้านตนเองแล้ว เมื่อเราฟังรายงานข่าวเราจะไม่สับสนกับข้อมูลที่มากเกินไป เราจะประเมินความเสี่ยงได้คร่าว ๆ เพื่อรับมือต่อไป
คำถามข้อที่สองคือ : ถ้าท่วมจะท่วมสูงเท่าไร?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าสภาพภูมิประเทศในจังหวัดต่าง ๆ ไม่ได้ราบเรียบเท่ากันหมด และมีความสูงต่ำไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ด้วย สมมติว่าถ้ารัฐบาลประกาศว่าน้ำจะท่วมเขต “เสลดเป็ด” สูงหนึ่งเมตร บ้าน A และ B อยู่ในเขตเดียวกันแต่บ้านสูงไม่เท่ากัน อาจเกิดความสับสนได้ว่า หนึ่งเมตรของบ้านใครกันแน่ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์น้ำเป็นระดับน้ำที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อที่แต่ละบ้านจะได้ประเมินสถานการณ์ของตนเองให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
อย่าเพิ่งกุมขมับว่าศัพท์เทคนิคเหล่านี้ยากเกินกว่าจะเข้าใจนะ ก็เพียงแค่เช็คความสูงของระดับน้ำทะเลปานกลางของเขตบ้านเราเอาไว้ ก็สามารถคิดเลขกันได้ง่าย ๆ แล้ว นั่นก็คือ เอาระดับน้ำที่รัฐบาลบอกว่าจะท่วมสูง ลบความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางของเขตบ้าน จะได้ระดับน้ำที่จะท่วมจริง เช่นรัฐบาลประกาศว่าน้ำจะท่วมสูง 2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่เขตบ้านของเราสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1.7 เมตร น้ำจะท่วมจริง ๆ 30 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินว่าน้ำท่วมสูง 2 เมตร ก็ไม่ต้องตกใจว่าน้ำจะท่วมมิดบ้าน เพราะจริง ๆ มันก็ท่วมแค่ครึ่งแข้งเท่านั้นเอง
คำถามข้อที่สามคือ : ถ้าท่วมจะท่วมอีกนานแค่ไหน?
คำถามข้อนี้อาจจะฟังดูตอบยากที่สุดเพราะขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย แต่ถึงยังไงก็สามารถประเมินคร่าว ๆ ได้แน่นอน
สิ่งที่เราต้องศึกษาคือสภาพโดยรอบของเขตบ้านเรา ตามธรรมชาติน้ำจะไหลจากเหนือสู่ใต้เพื่อระบายสู่อ่าวไทย ทว่าบางพื้นที่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลยเช่น เขต A อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1 เมตร น้ำจะไหลจากเขต A ไป เขต B แต่เขต B สูงจากทะเลปานกลาง 2 เมตร เราจะเรียกลักษณะของกรณีนี้ว่าจะเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ซึ่งมีผลทำให้การระบายน้ำยุ่งยากกว่าเขต C ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1 เมตรเท่ากับเขต A แต่เขต D อยู่สูงแค่ 0.8 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง น้ำจะสามารถระบายผ่านได้ดีกว่า แต่จะไม่ใช่ทุกกรณีที่จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป และทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการระบายน้ำเป็นอีกปัจจัยด้วย
เส้นทางการระบายน้ำสามารถชี้วัดระยะเวลาของน้ำท่วมได้ พื้นที่ที่ใกล้จุดระบายน้ำหลัก น้ำจะท่วมยาวนานกว่าพื้นที่ที่เป็นทางผ่าน เอาง่าย ๆ คือน้ำจากรอบด้านจะต้องผ่านมาในเขตบ้านเรา และก็หมายความว่าตราบใดน้ำยังระบายไม่หมดละก็เราจะยังเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้ายก่อนที่น้ำจะพ้นเขตของเราไป
เราได้รวบรวมลิงก์ที่นำไปสู่ข้อมูลที่จำเป็นไว้ให้คุณในคำบรรยายใต้คลิปนี้แล้ว ลองศึกษาและนำไปปรับใช้กันดูนะครับ เพราะอาจไม่มีใครรู้จักบ้านของคุณดีได้เท่ากับตัวคุณและครอบครัวของคุณเอง :
เมื่อเราประเมินสถานการณ์น้ำท่วมด้วยตนเองได้แล้ว ตอนที่ 3 (เตรียมให้ชัวร์ไม่ต้องกลัวน้ำ) สำหรับบ้านใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เราจะมาลงรายละเอียดกันว่าเราจะเริ่มต้นรับมือน้ำท่วมได้อย่างไรครับ
(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)