Warning: The magic method Vc_Manager::__wakeup() must have public visibility in /home/ifeelsom/domains/porpiangwriter.com/public_html/wp-content/plugins/js_composer/include/classes/core/class-vc-manager.php on line 203
ตอนที่ 1 รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น ฉบับตัวอักษร – PorpiangWriter.com
ตอนที่ 1 รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น ฉบับตัวอักษร

ตอนที่ 1 รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น ฉบับตัวอักษร


ถ้าเราลองสังเกตรอบตัวดู จะพบว่าในช่วงวิกฤติน้ำท่วม มีคนมากมายหลายประเภท บางคนชอบติดตามข่าว เกาะติดสถานการณ์ แต่โทรทัศน์ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เราอยากรู้เลย ถึงจะหันไปดูข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีไหลล้นทะลักออกมาเสียจนเลือกไม่ถูก แค่ค้นคำว่า “น้ำท่วม” ใน Google ก็จะพบการค้นหาถึงสามสิบหกล้านรายการ จึงหมายความว่า น้ำยังไม่ทันจะท่วม ข้อมูลดันมาท่วมเสียก่อน

บางคนทำทุกอย่างที่ได้แชร์ในเฟซบุ๊ค ตุนข้าวของ จอดรถบนทางด่วน ซื้อเรือ ตื่นตระหนกไปกับทุกข่าวทุกข้อมูล แต่บางคนก็เฉย ๆ เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จริง ๆ เลยว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมน้ำท่วมครั้งนี้ (ช่วงปีพุทธศักราช 2554) ถึงรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

น้ำมาจากไหน? น้ำมาจากฝนที่ตกลงมาตามธรรมชาติทุกปี ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่ลาดเอียง ทำให้ฝนที่ตกลงมาท่วมอยู่บนพื้นดินจะไหลลงตามธรรมชาติจากทางภาคเหนือสู่ทะเลอ่าวไทย

ในสมัยก่อนน้ำฝนที่ตกลงมาตามพื้นดินจะไหลลงตามที่บอกไปเมื่อสักครู่ โดยมีผืนป่าเป็นเสมือนเขื่อนธรรมชาติ ช่วยซึมซับและชะลอความเร็วของน้ำ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราเชื่อได้ว่าเราจะสามารถควบคุมน้ำได้ จึงสร้างเขื่อนให้สามารถควบคุมการใช้น้ำ วางแผนกักเก็บน้ำ และปล่อยตามต้องการ

ป่าซึ่งเป็นพื้นที่ซับน้ำ ค่อย ๆ กลายมาเป็นหมู่บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม และอื่น ๆ

แถมจากที่วิถีของน้ำขึ้นอยู่กับธรรมชาติ กลับกลายเป็นขึ้นอยู่กับการควบคุมของมนุษย์ และเมื่อมีการควบคุม จึงมีความเสี่ยงที่จะเสียการควบคุม

ปี 2554 ปริมาณน้ำฝนที่รวมตั้งแต่ต้นปีไม่ต่างจากปี 2553 มากนัก แต่ด้วยเหตุที่ฝนตกอย่างหนาแน่นในเดือนกันยายน จึงทำให้ปริมาณน้ำฝนมีมากเกินกว่าปกติ

จากทุกปัจจัยที่อธิบายมาทั้งหมด ทำให้ปี 2554 มีมวลน้ำปริมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรตกค้างอยู่บนภาคพื้นดิน เทียบน้ำหนักของน้ำได้เท่ากับปลาวาฬสีน้ำเงินตัวเต็มวัยจำนวน 50 ล้านตัว

เมื่อปลาวาฬอยู่ผิดที่ผิดทาง ก็หมายถึงอุปสรรคต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ปลาวาฬบางตัวก็บุกเข้าไปในบ้าน ทำให้คนต้องขึ้นไปอยู่บนหลังคา บางตัวก็ทำลายเส้นทางการจราจร เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีแก้ปัญหาคือต้องพาเหล่าปลาาฬกลับลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

เรามีเส้นทางการระบายปลาวาฬสู่อ่าวไทยสามเส้นทาง คือแม่น้ำท่าจีน บางปะกง และเจ้าพระยา และทำให้เราระบายปลาวาฬลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้หนึ่งล้านตัวต่อวัน เท่ากับว่าเราต้องใช้เวลาห้าสิบวันในการระบายฝูงปลาวาฬทั้งหมดนี้

หลายคนสงสัยว่าถ้าเราต้องปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ จะช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้นหรือไม่? ด้วยพี้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพฯ แล้วถ้าเราปล่อยให้น้ำท่วมสูง 1 เมตรทั่วพื้นที่ (ระดับหน้าอกของผู้ใหญ่) เราจะสามารถแบ่งเบาเหล่าปลาวาฬได้แปดล้านตัว แต่การระบายน้ำยังคงเท่าเดิม และยังต้องใช้เวลาอีก 42 วันในการพาปลาวาฬที่เหลือลงสู่ทะเล

แล้วเราจะทำยังไงล่ะ ปัญหานี้ต้องแก้ยังไงกันแน่?

นโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่ก็คือปกป้องคันกั้นน้ำให้ดีและมั่นคงที่สุดในขณะที่รอการระบายน้ำออกจนหมดเพื่อไม่ให้น้ำเข้ามายังกรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์กลางการแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม ฉะนั้นไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ประเทศไทยจะต้องอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมไปอีกหนึ่งเดือนเต็ม ๆ ขึ้นไป

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือแรงดันน้ำ ให้ลองนึกภาพที่ปลาวาฬต้องการที่อยากลงทะเลใจจะขาด จึงออกแรงดันคันกั้นน้ำที่ขวางทางอยู่ เมื่อไรที่คันกั้นน้ำไม่สามารถทนแรงดันของปลาวาฬได้ พวกมันก็จะเข้ามาว่ายเล่นในกรุงเทพฯ อย่างหยุดไม่อยู่

คำถามคือคันกั้นน้ำจะทนแรงดันน้ำได้อีกนานแค่ไหน?

คำตอบของนักวิชาการนั้นมีหลากหลายจนไม่รู้ว่าของใครดีที่สุด เพราะทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการประมาณการทั้งสิ้น

สรุปได้ว่าตราบใดที่เราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดเรื่องความเสี่ยง คนกรุงเทพฯ เองก็มีโอกาสที่จะตกเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่สามารถคาดหวังคำตอบเรื่องทางแก้ปัญหาได้ การเสพข้อมูลจนมากเกินไปก็มีแต่จะทำให้เราตื่นตระหนกโดยใช่เหตุ ฉะนั้นสิ่งที่เราน่าจะทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ ก็คือ “ตั้งสติ” และตั้งคำถามว่า “เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้เราไม่กลายเป็นผู้ประสบภัยแม้จะอยู่ในภาวะน้ำท่วมก็ตาม”

ตอนที่ 2 ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมคร่าว ๆ ด้วยตนเอง จะนำเสนอวิธีการตั้งต้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างมีสติ

(ขอบคุณข้อมูลจาก รู้สู้ Flood และไทยพีบีเอส)

Share this post

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart